วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

บรรณานุกรม

บรรณานุกรมหนังสือภาษาไทย
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐
คณิต ณ นคร. กฎหมายอาญาภาคทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, ๒๕๔๗.
ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ. หลักและปัญหากฎหมายอาญา. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นิติธรรม, ๒๕๔๐.
หยุด แสงอุทัย. กฎหมายอาญาภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑๗. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๔๐.

บรรณานุกรมสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์
- ฐานข้อมูลออนไลน์
มหาวิทยาลัยบูรพา. ตัวอย่างข้อสอบกฎหมายอาญา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://law.buu.igetweb.com. (วันที่ค้นข้อมูล : 24 มกราคม 2556).

ผู้สนับสนุน

          มาตรา ๘๖ บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้น้ป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ สองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น"

          การกระทำอันเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกนั้น จะเป็นด้วยวิธีใดก็ได้ แต่จะต้องมีขึ้นก่อน เช่น ให้ปืนไปยิงคน นำทางไปปล้น ขับรถ ขับเรือไปคอยรอรับ ไปส่ง ในการลักทรัพย์ หรือหาเครื่องมือเครื่องไม้ให้ใช้ในการกะัทำความผิด เป็นต้น และไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะรู้ถึงการช่วยเหลือนั้นหรือไม่ก็ตามไม่เป็นข้อสำคัญ หรือให้อาวุธไปปล้นแม้เวลาปล้นไม่ได้ใช้อาวุธนั้นก็เป็นผู้สนับสนุนได้ และแม้ความผิดจะไม่สำเร็จก็เป็นการสนับสนุนให้พยายามได้ ข้อสำคัญคือ ผู้กระทำความผิดจะต้องเข้ารับความช่วยเหลือนั้น มิฉะนั้นแล้วการสนับสนุนก็ไม่เกิด เช่น ก. คนใช้ของ ข. โกรธ ข. จึงเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ หากคนร้่ยไม่มาหรือไม่เข้าทางหน้าต่างดังกล่าว การช่วยเหลือของ ก. ไม่ประสบผลก็ไม่มีการสนับสนุน หรือจะให้ปืนไปยิงคน แต่ผู้กระทำไม่รู้หรือไม่รับเท่ากับยังไม่มีการช่วยเหลือ แต่ถ้านัดแนะกับคนร้ายไว้แล้ว เมื่อตนเองได้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ให้ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนแล้ว*๘

          ตามมาตรา ๘๖ สามารถแยกองค์ประกอบหลักได้ดังนี้*๙
          ๑. ต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หมายถึงมีการกระทำเข้าขั้นที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เช่นเข้าขั้นพยายามตามมาตรา ๘๐ (หรือตระเตรียมในบางกรณี) เป็นต้นไป หากไม่มีการกระทำความผิดก็ไม่มีผู้สนับสนุน
          ตัวอย่าง
          ก. ให้ ข. ยืมปืนของ ก. ไปใช้ในการฆ่า ค. ซึ่งเป็นศัตรูของ ข. ข. เดินถือปืนไปถึงบ้านของ ค. เห็น ค. กำลังเล่นอยู่กับลูก ข. เกิดสงสารจึงไม่ลงมือยิง ค. เช่นนี้ถือว่า ข. มิได้กระทำความผิดฐานฆ่า ค. แต่อย่างใด ก. จึงไม่เป็นผู้สนับสนุน จะถือว่าพยายามสนับสนุนก็ไม่ได้เพราะสนับสนุนไม่มีพยามยาม

          ๒. กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นนั้น
          ๒.๑ การกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนี้ มีความหมายกว้างไม่จำกัดว่าจะต้องทำด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดโดยเฉพาะ แม่การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกจะเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดเกิดขึ้น ก็ถือเป็นการสนับสนุนได้
          ตัวอย่าง
          ฎีกาที่ ๔๐๘๖/ ๒๕๓๖
          คนงานของโรงงานรู้ว่าโรงงานที่ตนทำเป็นโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต และรู้ว่าไม้สักแปรรูปที่ใช้ทำเครื่องประดิษฐ์เป็นไม้แปรรูปที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าคนงานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าของโรงงานในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้
          ๒.๒ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกันตรงๆ อาจช้วยกันเป็นทอดๆ ก็ได้
          ตัวอย่าง
          ก. รู้ว่า ข. ต้องการได้ปืนเพื่อไปใช้ในการฆ่า ค. ก. ไม่รู้จักกับ ข. ก. นำปืนของตนไปมอบให้แก่ ง. ซึ่งเป็นเพื่อนของ ข. เพื่อให้ ง. นำไปให้ ข. เช่นนี้หาก ข. ยิง ค. โดยใช้ปืนของ ก. ก็ถือว่า ก. เป็นผู้สนับสนุน ข. ได้ทั้งๆ ที่ ก. ไม่รู้จักกับ ข. เลยก็ตาม
          ๒.๓ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอาจจะกระทำโดยการใช้คำพูดก็ได้
          ๒.๔ การนิ่งเฉยเสียไม่ละเว้นห้ามปรามมิให้มีการกระทำความผิดนั้นไม่ถือว่าเป็นการสนับสนุน
       
          ๓. โดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นนั้น
          เจตนาอาจเป็นประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลก็ได้ การกระทำของผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นอาจแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหรือไม่

          ๔. "ก่อน" หรือ "ขณะ" กระทำความผิด

          ข้อสังเกต
          ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการเพราะไม่มีการกระทำร่วมกันขณะกระทำความผิด อาจเป็นผู้สนับสนุนได้หากมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก "ก่อน" การกระทำความผิด

          ๕. ไม่ว่าผู้กระทำความผิดนั้น จะได้รู้หรือมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นหรือไม่ก็ตาม
          การสนับสนุนการกระทำความผิด อาจกรัทำโดยผู้สนับสนุนเจตนาฝ่ายเดียว ผู้กระทำความผิดที่ได้รับการสนับสนุนไม่จำต้องรู้ถึงการสนับสนุนด้วย
          ตัวอย่าง
          ก. ต้องการไปลักทรัพย์ในบ้านของ ข. ค. ซึ่งเป็นคนใช้ในบ้านของ ข. ช่วยเปิดประตูบ้านทิ้งไว้โดยประสงค์จะให้ ก. เข้ามาลักทรัพย์ได้สะดวก ก.ได้เข้ามาลักทรัพย์ในบ้านของ ข. โดยทางประตูที่เปิดไว้นั้น เช่นนี้ถือว่า ค. เป็นผู้สนับสนุน แม้ว่า ก. จะมิได้รู้ถึงการให้ความช่วยเหลือของ ค. นั้นเลยก็ตาม

          การใช้ผู้สนับสนุน การสนับสนุนผู้ใช้ และการสนับสนุนผู้สนับสนุน
          การใช้ผู้สนับสนุน การสนับสนุนผู้ใช้และการสนับสนุนผู้สนับสนุน ถือว่าเป็นการสนับสนุนผู้ลงมือกระทำความผิดนั่นเอง*๑๐

____________________


          [๘] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๖, หน้า ๒๐๖.
          [๙] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๒, หน้าที่ ๔๕๖-๔๖๒.
          [๑๐] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๒, หน้า ๔๖๒.

ผู้ใช้

          มาตรา ๘๔ บัญญัติว่า "ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
          ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

          ตามที่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว ทำให้เราต้องแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี คือ (๑) กรณีที่ผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิด และ (๒) กรณีที่ความผิดมิได้กระทำลง ดังจะได้อธิบายตามลำดับ*๕

๑. กรณีที่ผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิด
          ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ คือเสมือนได้กระทำความผิดนั้นโดยตนเองและประมวลกฎหมายอาญาเรียกผู้นั้นว่า "ผู้ใช้ให้กระทำความผิด" โดยได้วางองค์ประกอบสำหรับการเป็นผู้ใช้ใหเกระทำความผิดไว้ดังนี้
     ๑.๑ ต้องก่อให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่าวหนึ่ง
     ๑.๒ การกระทำตามที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำการนั้นเป็นความผิดทางอาญา
     ๑.๓ ต้องมีเจตนาที่จะก่อให้ผู้อื่นกระทำการนั้นๆ ด้วย

๒. กรณีที่ความผิดมิได้กระทำลง
          ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา ๘๔ วรรคสองได้กำหนดกรณีที่ความผิดตามที่ใช้มิได้กระทำลงไว้ ๓ กรณี กล่าวคือ
     ๑.๑ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ซึ่งหมายความถึงกรณี ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) ผู้ถูกใบ้ไม่ยอมรับปากว่าจะกระทำตามที่ใช้ประการหนึ่ง (๒) ผู้ถูกใช้ยอมรับปากว่าจะกระทำตามที่ใช้แล้ว แต่ภายหลังเกิดกลับใจไม่ยอมกระทำตามที่ใช้อีกประการหนึ่ง ทั้งนี้แสดงว่า เพียงที่ออกปากใช้ให้บุคคลกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาสามัญหรือความผิดลหุโทษ ผู้ใช้ก็มีความผิดทันที คือต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ใช้ แต่ถ้าภายหลังผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดตามที่ใช้ ผู้ใช้ก็มีความผิดเสมือนเป็นตัวการ
     ๑.๒ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะผู้ถูกใบ้ยังมิได้กระทำ ซึ่งหมายความถึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกใช้รับปากที่จะกระทำแล้ว แต่ยังมิได้กระทำ เช่น ผู้ถูกใช้ถูกจับกุมเสียก่อนลงมือกระทำ เป็นต้น
     ๑.๓ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะเหตุอื่นใด เช่น เพราะผู้ถูกใข้ตายเสียก่อนที่จะได้กระทำความผิดตามที่ใช้

          การกระทำความผิดโดยทางอ้อม

          การกระทำทำความผิดโดยทางอ้อมนี้ต่างกับเรื่องผู้ใช้ เพราะในเรื่องผู้ใช้นั้น ผู้กระทำการตามที่ใช้ต้องรับผิดอาญาในฐานะกระทำความผิดโดยเจตนา แต่ในกรณีการกระทำความผิดทางอ้อมนี้ ผู้ถูกใช้เป็นเครื่องมือไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายในฐานะเดียวกันกับผู้ใช้*๖ ดังนั้น การกระทำความผิดโดยทางอ้อมจึงอาจเกิดได้จาก
          ๑. การใช้เด็กอายุไม่เกิน ๗ ปีให้กระทำความผิด (ตามมาตรา ๗๓)
          ๒. การใช้ผู้ที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน (ตามมาตรา ๖๕) ให้กระทำความผิด
          ๓. การใช้ผู้ที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเสพสุราหรือสิ่งมึน้มาอย่างอื่น ซึ่งผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพโดยถูกขืนใจให้เสพ (ตามมาตรา ๖๖) เป็นเครื่องมือกระทำความผิด
          ๔. การใช้บุคคลที่สำคัญผิดในข้อเท็จจริงให้กระทำความผิด โดยบุคคลนั้นไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ
          ๕. การใช้ให้บุคคลกระทำความผิดโดยประมาท
          ๖. การใช้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ ให้กระทำความผิด
          ๗. การใช้บุคคลให้กระทำตามคำสั่งของตนที่มิชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้ถูกใช้มีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เป็นเครื่องมือกระทำความผิด ผู้ปฏิบัติไม่มีโทษตามมาตรา ๗๐ แต่เจ้าพนักงานผู้สั่งเป็นผู้กระทำความผิดทางอ้อม

          สรุปหลักเกณฑ์ของการเป็น "ผู้ใช้"
          ๑. ผู้ใช้จะต้อวมีเจตนากระทำความผิดนั้น
          ๒. ผู้ใช้จะต้องมีเจตนา "ก่อ" ให้ผู้ถูกใช้กระทำความผิดนั้น เจตนาอาจเป็น "ประสงค์ต่อผล" หรือ "เล็งเห็นผล" ก็ได้
          ๓. ผู้ถูกใช้จะต้องกระทำความผิดนั้นโดยเจตนา
     
          หากผู้ถูกใช้หรือผู้หลอกมีเจตนากระทำความผิด แต่ผู้ใช้หรือถูกหลอกขาดเจตนากระทำความผิดเราเรียกผู้ใช้หรือผู้หลอกนั้นว่า "ผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม" ส่วนผู้ถูกใช้หรือถูกหลอกเรียกว่า "Innocent Agent" หรือผู้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้อื่น*๗

          ตัวอย่างข้อสอบวิชากฎหมายอาญา
นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่า นายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส นายชมเกิดสำนึกผิดจึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ให้วินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใดหรือไม่
          ธงคำตอบ          นายชื่นรับจ้างนายชิตมาฆ่านายใส ถือว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใสเป็นการลงมือกระทำความผิด อันเป็นการพยายามกระทำความผิด นายชื่นจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289 (4) ประกอบมาตรา 80
            
          นายชิตว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตนจึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 เมื่อนายชื่นเล็งปืนจ้องจะยิงนายใสเป็นกรณีความผิดที่ใช้ได้กระทำลงแล้ว นายชิตต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 วรรคสอง นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
            
          นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส จึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา84 เช่นเดียวกับนายชิต  แม้นายชิตมิได้ลงมือฆ่าด้วยตนเอง แต่ไปใช้นายชื่นอีกต่อหนึ่ง ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสเป็นผลมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา84 อย่างไรก็ตามนายชมได้เข้าปัดปืนทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ถือว่าการกระทำของนายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางของนายชมซึ่งเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 88 นายชมจึงรับโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) เสมือนหนึ่งความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลงตามมาตรา 84 วรรคสอง

____________________

          [๕] หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญาภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๑๐๒
          [๖] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หลักและปัญหากฎหมายอาญา, พิมพ์ครั้งแรก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๒๐๐-๒๐๑.
          [๗] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๔๔๓.


ตัวการ

          คำว่า "ตัวการ" เป็นคำเก่าแก่ในทางกฎหมายอาญาของไทยเราและเป็นคำที่มีความหมายเป็นการเฉพาะ

          มาตรา ๘๓ บัญญัติว่า "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

          พึงสังเกตถ้อยคำในกฎหมายที่ว่า "ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน" ดังนั้น "ตัวการ" จึงเป็นผู้กระทำความผิดประเภทหนึ่ง คือเป็น "ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน"*๑
       
หลักจากมาตรา ๘๓ แยกได้ดังนี้
          ๑. เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา
          ๒. ในระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
          ๓. โดยมีการกระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด
          ๔. โดยมีเจตนากระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด*๒

          ๑. เป็นการกระทำความผิด
๑.๑ หากการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ผู้ที่ร่วมกระทำก็ไม่เป็นตัวการ เพราะตัวบทใช้คำว่าร่วม "กระทำความผิด" ด้วยกัน
๑.๒ หากการกระทำนั้นได้กระทำไปไม่ถึงขั้นที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดก็ไม่เป็นตัวการ
          
          ๒. ในระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
ตัวการตามมาตรา ๘๓ หมายถึงบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร่วมกระทำความผิดด้วยกัน หากคนๆ เดียวทำผิด ไม่ถือว่าเป็นตัวการตามมาตรา ๘๓ บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปนี้คนหนึ่งอาจเป็นนิติบุคคล อีกคนหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้
          
          ๓. โดยมีการกระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด
          การกระทำร่วมกันมีหลายกรณี ดังนี้
          ๓.๑ หมายถึง การร่วมกระทำส่วนหนึ่งของการกระทำทั้งหมดที่รวมกันเป็นความผิดขึ้น
          ตัวอย่าง
          (ฎีกาที่ ๕๕๙/ ๒๕๑๔)
          จำเลยร่วมกับพี่ชายของจำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยจำเลยเป็นคนแทง พี่ชายของจำเลยเป็นคนยิง จำเลยและพี่ชายของจำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการฆ่าผู้อื่น
          ๓.๒ หมายถึง การแบ่งหน้าที่กันทำ
          ตัวอย่าง
          (ฎีกาที่ ๕๖๕/ ๒๕๐๒)
          แม้จำเลยมิได้ลงมือกระทำการปล้น เพียงรับหน้าที่คอยแจ้งสัญญาณอันตรายให้พวกทราบ ซึ่งเป็นการกระทำส่วนหนึ่งเพื่อให้การปล้นบรรลุสำเร็จ ก็เรียกได้ว่าจำเลยได้เป็นตัวการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แล้ว
          ๓.๓ หมายถึง การอยู่ร่วมหรือใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันได้ทันที
          ตัวอย่าง
          (ฎีกาที่ ๓๓๖๘/ ๒๕๒๙)
          จำเลยไปกับ ส. ด้วยในขณะที่ ส. ยิง ฉ. กับพวก กระสุนปืนถูก ก. แม้จำเลยมิใช่ผู้ยิง แต่จำเลยเป็นบิดา ส. ตรงที่เกิดเหตุเป็นป่าโดยปกติจะไม่มีผู้สัญจรไปมา เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยวิ่งหนีไปกับ ส. ดังนี้จำเลยร่วมกับ ส. กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, มาตรา ๒๘๘
          ๓.๔ หมายถึง การอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุและก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
          ตัวอย่าง
           (ฎีกาที่ ๒๕๐๔/ ๒๕๑๕)*๓
          ผู้ตายเป็นหลานของ ท. ท.กับสามีไปทวงหนี้จากสามีจำเลยเกิดทะเลาะกันจนเกือบจะต่อสู้กันผู้ตายเข้าห้ามและว่าให้ไปพูดกันที่บ้านสามี เมื่อไปพูดกันก็ทะเลาะกันอีก ผู้ตายเข้าห้ามไว้อีก เมื่อผู้ตายกลับบ้านแล้วหลังจากนั้น ๑ ชั่วโมง จำเลยกับสามีและชายอีกคนหนึ่งมาร้องตามหาผู้ตาย พอผู้ตายออกมาชายที่มากับจำเลยถามว่าคนไหนคือผู้ตาย จำเลยชี้มือบอก ชายคนนั้นก็ยิงผู้ตาย แล้วจำเลยกับพวกก็วิ่งหนีไปทางเดียวกัน ถือว่าจำเลยร่วมกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตาย

          ๔. มีเจตนากระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด
          หมายความว่า ผู้ที่กระทำการร่วมกันนั้น จะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างต้องประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย กล่าวคือ มุ่งหมายให้ความผิดนั้นสำเร็จดุจทำด้วยตนเอง ถึงแม้จะมิได้ทำจริงด้วยมือของตนเองก็ตาม*๔
          ตัวอย่าง
          (ฎีกาที่ ๗๑๘/ ๒๕๑๑)
          จำเลยสมคบกับพวกไปฉุดคร่าผู้เสียหายเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา มิได้มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ แต่พวกจำเลยได้ล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์ของพวกผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไปด้วย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีจะฟังว่าจำเลยรู้เห็นกับพวกในการลักทรัพย์ด้วยมิได้ จำเลยคงผิดฐานฉุดคร่าและข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น
       
          ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนากระทำร่วมกัน
          ถ้าผู้กระทำมีเจตนากระทำร่วมกันแล้ว หากมีผลปั้นปล่ยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลที่ผู้ลงมือกระทำต้องรับผิดแม้ไม่มีเจตนา ผู้กระทำทุกคนก็ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในผลบั้นปล่ยนั้นด้วย
          ตัวอย่าง
          แดงและดำร่วมกันทำร้ายขาว ด้วยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยแดงเป็นคนใช้ไม้ตีหัวขาว ดำเป็นคนดูต้นทางอยู่ใกล้ๆ ขาวได้รับบาดเจ็บ ต่อมาขาวตาย แดงมีความผิดตามมาตรา ๒๙๐ ดำก็เช่นกัน โดยเป็นตัวการตามมาตรา ๘๓ ถึงแม้ว่าตอนแรกดำจะมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๕ เท่านั้นร่วมกับแดงก็ตาม


 ____________________
       
          [๑] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. ๒๕๔๗), หน้า ๑๔๕.
          [๒] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๔๐๘.
          [๓] คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือโดยเนติบัณฑิตยสภา แต่ได้มาจาก ประภาศน์ อวยชัย, ประมวลกฎหมายอาญาภาค ๑ มาตรา ๑ ถึงมาตรา ๑๐๖ พร้อมด้วยคำพิพากษาฎีกา, หน้า ๗๐๙.
          [๔] จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาภาค ๑, (พ.ศ. ๒๕๓๖), หน้า ๔๑๑.