วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้ใช้

          มาตรา ๘๔ บัญญัติว่า "ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
          ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้นผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

          ตามที่ประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว ทำให้เราต้องแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณี คือ (๑) กรณีที่ผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิด และ (๒) กรณีที่ความผิดมิได้กระทำลง ดังจะได้อธิบายตามลำดับ*๕

๑. กรณีที่ผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิด
          ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ คือเสมือนได้กระทำความผิดนั้นโดยตนเองและประมวลกฎหมายอาญาเรียกผู้นั้นว่า "ผู้ใช้ให้กระทำความผิด" โดยได้วางองค์ประกอบสำหรับการเป็นผู้ใช้ใหเกระทำความผิดไว้ดังนี้
     ๑.๑ ต้องก่อให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่าวหนึ่ง
     ๑.๒ การกระทำตามที่ก่อให้ผู้อื่นกระทำการนั้นเป็นความผิดทางอาญา
     ๑.๓ ต้องมีเจตนาที่จะก่อให้ผู้อื่นกระทำการนั้นๆ ด้วย

๒. กรณีที่ความผิดมิได้กระทำลง
          ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น มาตรา ๘๔ วรรคสองได้กำหนดกรณีที่ความผิดตามที่ใช้มิได้กระทำลงไว้ ๓ กรณี กล่าวคือ
     ๑.๑ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ซึ่งหมายความถึงกรณี ๒ กรณี กล่าวคือ (๑) ผู้ถูกใบ้ไม่ยอมรับปากว่าจะกระทำตามที่ใช้ประการหนึ่ง (๒) ผู้ถูกใช้ยอมรับปากว่าจะกระทำตามที่ใช้แล้ว แต่ภายหลังเกิดกลับใจไม่ยอมกระทำตามที่ใช้อีกประการหนึ่ง ทั้งนี้แสดงว่า เพียงที่ออกปากใช้ให้บุคคลกระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาสามัญหรือความผิดลหุโทษ ผู้ใช้ก็มีความผิดทันที คือต้องระวางโทษหนึ่งในสามของโทษที่ได้กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ใช้ แต่ถ้าภายหลังผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดตามที่ใช้ ผู้ใช้ก็มีความผิดเสมือนเป็นตัวการ
     ๑.๒ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะผู้ถูกใบ้ยังมิได้กระทำ ซึ่งหมายความถึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกใช้รับปากที่จะกระทำแล้ว แต่ยังมิได้กระทำ เช่น ผู้ถูกใช้ถูกจับกุมเสียก่อนลงมือกระทำ เป็นต้น
     ๑.๓ ความผิดมิได้กระทำลงเพราะเหตุอื่นใด เช่น เพราะผู้ถูกใข้ตายเสียก่อนที่จะได้กระทำความผิดตามที่ใช้

          การกระทำความผิดโดยทางอ้อม

          การกระทำทำความผิดโดยทางอ้อมนี้ต่างกับเรื่องผู้ใช้ เพราะในเรื่องผู้ใช้นั้น ผู้กระทำการตามที่ใช้ต้องรับผิดอาญาในฐานะกระทำความผิดโดยเจตนา แต่ในกรณีการกระทำความผิดทางอ้อมนี้ ผู้ถูกใช้เป็นเครื่องมือไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายในฐานะเดียวกันกับผู้ใช้*๖ ดังนั้น การกระทำความผิดโดยทางอ้อมจึงอาจเกิดได้จาก
          ๑. การใช้เด็กอายุไม่เกิน ๗ ปีให้กระทำความผิด (ตามมาตรา ๗๓)
          ๒. การใช้ผู้ที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเป็นผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน (ตามมาตรา ๖๕) ให้กระทำความผิด
          ๓. การใช้ผู้ที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะเสพสุราหรือสิ่งมึน้มาอย่างอื่น ซึ่งผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพโดยถูกขืนใจให้เสพ (ตามมาตรา ๖๖) เป็นเครื่องมือกระทำความผิด
          ๔. การใช้บุคคลที่สำคัญผิดในข้อเท็จจริงให้กระทำความผิด โดยบุคคลนั้นไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ
          ๕. การใช้ให้บุคคลกระทำความผิดโดยประมาท
          ๖. การใช้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ ให้กระทำความผิด
          ๗. การใช้บุคคลให้กระทำตามคำสั่งของตนที่มิชอบด้วยกฎหมายซึ่งผู้ถูกใช้มีหน้าที่หรือเชื่อโดยสุจริตว่ามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม เป็นเครื่องมือกระทำความผิด ผู้ปฏิบัติไม่มีโทษตามมาตรา ๗๐ แต่เจ้าพนักงานผู้สั่งเป็นผู้กระทำความผิดทางอ้อม

          สรุปหลักเกณฑ์ของการเป็น "ผู้ใช้"
          ๑. ผู้ใช้จะต้อวมีเจตนากระทำความผิดนั้น
          ๒. ผู้ใช้จะต้องมีเจตนา "ก่อ" ให้ผู้ถูกใช้กระทำความผิดนั้น เจตนาอาจเป็น "ประสงค์ต่อผล" หรือ "เล็งเห็นผล" ก็ได้
          ๓. ผู้ถูกใช้จะต้องกระทำความผิดนั้นโดยเจตนา
     
          หากผู้ถูกใช้หรือผู้หลอกมีเจตนากระทำความผิด แต่ผู้ใช้หรือถูกหลอกขาดเจตนากระทำความผิดเราเรียกผู้ใช้หรือผู้หลอกนั้นว่า "ผู้กระทำความผิดโดยทางอ้อม" ส่วนผู้ถูกใช้หรือถูกหลอกเรียกว่า "Innocent Agent" หรือผู้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้อื่น*๗

          ตัวอย่างข้อสอบวิชากฎหมายอาญา
นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่า นายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส นายชมเกิดสำนึกผิดจึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ให้วินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใดหรือไม่
          ธงคำตอบ          นายชื่นรับจ้างนายชิตมาฆ่านายใส ถือว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใสเป็นการลงมือกระทำความผิด อันเป็นการพยายามกระทำความผิด นายชื่นจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289 (4) ประกอบมาตรา 80
            
          นายชิตว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตนจึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 เมื่อนายชื่นเล็งปืนจ้องจะยิงนายใสเป็นกรณีความผิดที่ใช้ได้กระทำลงแล้ว นายชิตต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 วรรคสอง นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
            
          นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส จึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา84 เช่นเดียวกับนายชิต  แม้นายชิตมิได้ลงมือฆ่าด้วยตนเอง แต่ไปใช้นายชื่นอีกต่อหนึ่ง ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสเป็นผลมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา84 อย่างไรก็ตามนายชมได้เข้าปัดปืนทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ถือว่าการกระทำของนายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางของนายชมซึ่งเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 88 นายชมจึงรับโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) เสมือนหนึ่งความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลงตามมาตรา 84 วรรคสอง

____________________

          [๕] หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญาภาค ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑๗ (โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๑๐๒
          [๖] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, หลักและปัญหากฎหมายอาญา, พิมพ์ครั้งแรก (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นิติธรรม, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๒๐๐-๒๐๑.
          [๗] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๑, หน้า ๔๔๓.


4 ความคิดเห็น: