มาตรา ๘๓ บัญญัติว่า "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"
พึงสังเกตถ้อยคำในกฎหมายที่ว่า "ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน" ดังนั้น "ตัวการ" จึงเป็นผู้กระทำความผิดประเภทหนึ่ง คือเป็น "ผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน"*๑
หลักจากมาตรา ๘๓ แยกได้ดังนี้
๑. เป็นการกระทำความผิดโดยเจตนา
๒. ในระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
๓. โดยมีการกระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด
๔. โดยมีเจตนากระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด*๒
๑.๑ หากการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ผู้ที่ร่วมกระทำก็ไม่เป็นตัวการ เพราะตัวบทใช้คำว่าร่วม "กระทำความผิด" ด้วยกัน
๑.๒ หากการกระทำนั้นได้กระทำไปไม่ถึงขั้นที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดก็ไม่เป็นตัวการ
๒. ในระหว่างบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
ตัวการตามมาตรา ๘๓ หมายถึงบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปร่วมกระทำความผิดด้วยกัน หากคนๆ เดียวทำผิด ไม่ถือว่าเป็นตัวการตามมาตรา ๘๓ บุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไปนี้คนหนึ่งอาจเป็นนิติบุคคล อีกคนหนึ่งเป็นบุคคลธรรมดาก็ได้
๓. โดยมีการกระทำร่วมกัน ในขณะกระทำความผิด
การกระทำร่วมกันมีหลายกรณี ดังนี้
๓.๑ หมายถึง การร่วมกระทำส่วนหนึ่งของการกระทำทั้งหมดที่รวมกันเป็นความผิดขึ้น
ตัวอย่าง
(ฎีกาที่ ๕๕๙/ ๒๕๑๔)
จำเลยร่วมกับพี่ชายของจำเลยทำร้ายผู้ตาย โดยจำเลยเป็นคนแทง พี่ชายของจำเลยเป็นคนยิง จำเลยและพี่ชายของจำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการฆ่าผู้อื่น
๓.๒ หมายถึง การแบ่งหน้าที่กันทำ
ตัวอย่าง
(ฎีกาที่ ๕๖๕/ ๒๕๐๒)
แม้จำเลยมิได้ลงมือกระทำการปล้น เพียงรับหน้าที่คอยแจ้งสัญญาณอันตรายให้พวกทราบ ซึ่งเป็นการกระทำส่วนหนึ่งเพื่อให้การปล้นบรรลุสำเร็จ ก็เรียกได้ว่าจำเลยได้เป็นตัวการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ แล้ว
๓.๓ หมายถึง การอยู่ร่วมหรือใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะที่พร้อมจะช่วยเหลือกันได้ทันที
ตัวอย่าง
(ฎีกาที่ ๓๓๖๘/ ๒๕๒๙)
จำเลยไปกับ ส. ด้วยในขณะที่ ส. ยิง ฉ. กับพวก กระสุนปืนถูก ก. แม้จำเลยมิใช่ผู้ยิง แต่จำเลยเป็นบิดา ส. ตรงที่เกิดเหตุเป็นป่าโดยปกติจะไม่มีผู้สัญจรไปมา เมื่อเกิดเหตุแล้วจำเลยวิ่งหนีไปกับ ส. ดังนี้จำเลยร่วมกับ ส. กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, มาตรา ๒๘๘
๓.๔ หมายถึง การอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุและก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด
ตัวอย่าง
(ฎีกาที่ ๒๕๐๔/ ๒๕๑๕)*๓
ผู้ตายเป็นหลานของ ท. ท.กับสามีไปทวงหนี้จากสามีจำเลยเกิดทะเลาะกันจนเกือบจะต่อสู้กันผู้ตายเข้าห้ามและว่าให้ไปพูดกันที่บ้านสามี เมื่อไปพูดกันก็ทะเลาะกันอีก ผู้ตายเข้าห้ามไว้อีก เมื่อผู้ตายกลับบ้านแล้วหลังจากนั้น ๑ ชั่วโมง จำเลยกับสามีและชายอีกคนหนึ่งมาร้องตามหาผู้ตาย พอผู้ตายออกมาชายที่มากับจำเลยถามว่าคนไหนคือผู้ตาย จำเลยชี้มือบอก ชายคนนั้นก็ยิงผู้ตาย แล้วจำเลยกับพวกก็วิ่งหนีไปทางเดียวกัน ถือว่าจำเลยร่วมกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตาย
๔. มีเจตนากระทำร่วมกันในขณะกระทำความผิด
หมายความว่า ผู้ที่กระทำการร่วมกันนั้น จะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างต้องประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย กล่าวคือ มุ่งหมายให้ความผิดนั้นสำเร็จดุจทำด้วยตนเอง ถึงแม้จะมิได้ทำจริงด้วยมือของตนเองก็ตาม*๔
ตัวอย่าง
(ฎีกาที่ ๗๑๘/ ๒๕๑๑)
จำเลยสมคบกับพวกไปฉุดคร่าผู้เสียหายเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา มิได้มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์ แต่พวกจำเลยได้ล้วงกระเป๋าเอาทรัพย์ของพวกผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไปด้วย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันทีจะฟังว่าจำเลยรู้เห็นกับพวกในการลักทรัพย์ด้วยมิได้ จำเลยคงผิดฐานฉุดคร่าและข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น
ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนากระทำร่วมกัน
ถ้าผู้กระทำมีเจตนากระทำร่วมกันแล้ว หากมีผลปั้นปล่ยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลที่ผู้ลงมือกระทำต้องรับผิดแม้ไม่มีเจตนา ผู้กระทำทุกคนก็ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในผลบั้นปล่ยนั้นด้วย
ตัวอย่าง
แดงและดำร่วมกันทำร้ายขาว ด้วยมีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยแดงเป็นคนใช้ไม้ตีหัวขาว ดำเป็นคนดูต้นทางอยู่ใกล้ๆ ขาวได้รับบาดเจ็บ ต่อมาขาวตาย แดงมีความผิดตามมาตรา ๒๙๐ ดำก็เช่นกัน โดยเป็นตัวการตามมาตรา ๘๓ ถึงแม้ว่าตอนแรกดำจะมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา ๒๙๕ เท่านั้นร่วมกับแดงก็ตาม
____________________
[๑] คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ ๒ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. ๒๕๔๗), หน้า ๑๔๕.
[๒] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญาภาค๑, พิมพ์ครั้งที่ ๕ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ.ศ. ๒๕๔๐), หน้า ๔๐๘.
[๓] คำพิพากษาฎีกาเรื่องนี้ไม่ปรากฏอยู่ในหนังสือโดยเนติบัณฑิตยสภา แต่ได้มาจาก ประภาศน์ อวยชัย, ประมวลกฎหมายอาญาภาค ๑ มาตรา ๑ ถึงมาตรา ๑๐๖ พร้อมด้วยคำพิพากษาฎีกา, หน้า ๗๐๙.
[๔] จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญาภาค ๑, (พ.ศ. ๒๕๓๖), หน้า ๔๑๑.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น