วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ผู้สนับสนุน

          มาตรา ๘๖ บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้น้ป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ สองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น"

          การกระทำอันเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกนั้น จะเป็นด้วยวิธีใดก็ได้ แต่จะต้องมีขึ้นก่อน เช่น ให้ปืนไปยิงคน นำทางไปปล้น ขับรถ ขับเรือไปคอยรอรับ ไปส่ง ในการลักทรัพย์ หรือหาเครื่องมือเครื่องไม้ให้ใช้ในการกะัทำความผิด เป็นต้น และไม่ว่าผู้กระทำความผิดจะรู้ถึงการช่วยเหลือนั้นหรือไม่ก็ตามไม่เป็นข้อสำคัญ หรือให้อาวุธไปปล้นแม้เวลาปล้นไม่ได้ใช้อาวุธนั้นก็เป็นผู้สนับสนุนได้ และแม้ความผิดจะไม่สำเร็จก็เป็นการสนับสนุนให้พยายามได้ ข้อสำคัญคือ ผู้กระทำความผิดจะต้องเข้ารับความช่วยเหลือนั้น มิฉะนั้นแล้วการสนับสนุนก็ไม่เกิด เช่น ก. คนใช้ของ ข. โกรธ ข. จึงเปิดหน้าต่างทิ้งไว้เพื่อให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ หากคนร้่ยไม่มาหรือไม่เข้าทางหน้าต่างดังกล่าว การช่วยเหลือของ ก. ไม่ประสบผลก็ไม่มีการสนับสนุน หรือจะให้ปืนไปยิงคน แต่ผู้กระทำไม่รู้หรือไม่รับเท่ากับยังไม่มีการช่วยเหลือ แต่ถ้านัดแนะกับคนร้ายไว้แล้ว เมื่อตนเองได้เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ให้ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนับสนุนแล้ว*๘

          ตามมาตรา ๘๖ สามารถแยกองค์ประกอบหลักได้ดังนี้*๙
          ๑. ต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น หมายถึงมีการกระทำเข้าขั้นที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เช่นเข้าขั้นพยายามตามมาตรา ๘๐ (หรือตระเตรียมในบางกรณี) เป็นต้นไป หากไม่มีการกระทำความผิดก็ไม่มีผู้สนับสนุน
          ตัวอย่าง
          ก. ให้ ข. ยืมปืนของ ก. ไปใช้ในการฆ่า ค. ซึ่งเป็นศัตรูของ ข. ข. เดินถือปืนไปถึงบ้านของ ค. เห็น ค. กำลังเล่นอยู่กับลูก ข. เกิดสงสารจึงไม่ลงมือยิง ค. เช่นนี้ถือว่า ข. มิได้กระทำความผิดฐานฆ่า ค. แต่อย่างใด ก. จึงไม่เป็นผู้สนับสนุน จะถือว่าพยายามสนับสนุนก็ไม่ได้เพราะสนับสนุนไม่มีพยามยาม

          ๒. กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นนั้น
          ๒.๑ การกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนี้ มีความหมายกว้างไม่จำกัดว่าจะต้องทำด้วยวิธีหนึ่งวิธีใดโดยเฉพาะ แม่การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกจะเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดเกิดขึ้น ก็ถือเป็นการสนับสนุนได้
          ตัวอย่าง
          ฎีกาที่ ๔๐๘๖/ ๒๕๓๖
          คนงานของโรงงานรู้ว่าโรงงานที่ตนทำเป็นโรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาต และรู้ว่าไม้สักแปรรูปที่ใช้ทำเครื่องประดิษฐ์เป็นไม้แปรรูปที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าคนงานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าของโรงงานในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ป่าไม้
          ๒.๒ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกกันตรงๆ อาจช้วยกันเป็นทอดๆ ก็ได้
          ตัวอย่าง
          ก. รู้ว่า ข. ต้องการได้ปืนเพื่อไปใช้ในการฆ่า ค. ก. ไม่รู้จักกับ ข. ก. นำปืนของตนไปมอบให้แก่ ง. ซึ่งเป็นเพื่อนของ ข. เพื่อให้ ง. นำไปให้ ข. เช่นนี้หาก ข. ยิง ค. โดยใช้ปืนของ ก. ก็ถือว่า ก. เป็นผู้สนับสนุน ข. ได้ทั้งๆ ที่ ก. ไม่รู้จักกับ ข. เลยก็ตาม
          ๒.๓ การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกอาจจะกระทำโดยการใช้คำพูดก็ได้
          ๒.๔ การนิ่งเฉยเสียไม่ละเว้นห้ามปรามมิให้มีการกระทำความผิดนั้นไม่ถือว่าเป็นการสนับสนุน
       
          ๓. โดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดที่ได้เกิดขึ้นนั้น
          เจตนาอาจเป็นประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลก็ได้ การกระทำของผู้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นอาจแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหรือไม่

          ๔. "ก่อน" หรือ "ขณะ" กระทำความผิด

          ข้อสังเกต
          ผู้ที่ไม่ได้เป็นตัวการเพราะไม่มีการกระทำร่วมกันขณะกระทำความผิด อาจเป็นผู้สนับสนุนได้หากมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก "ก่อน" การกระทำความผิด

          ๕. ไม่ว่าผู้กระทำความผิดนั้น จะได้รู้หรือมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นหรือไม่ก็ตาม
          การสนับสนุนการกระทำความผิด อาจกรัทำโดยผู้สนับสนุนเจตนาฝ่ายเดียว ผู้กระทำความผิดที่ได้รับการสนับสนุนไม่จำต้องรู้ถึงการสนับสนุนด้วย
          ตัวอย่าง
          ก. ต้องการไปลักทรัพย์ในบ้านของ ข. ค. ซึ่งเป็นคนใช้ในบ้านของ ข. ช่วยเปิดประตูบ้านทิ้งไว้โดยประสงค์จะให้ ก. เข้ามาลักทรัพย์ได้สะดวก ก.ได้เข้ามาลักทรัพย์ในบ้านของ ข. โดยทางประตูที่เปิดไว้นั้น เช่นนี้ถือว่า ค. เป็นผู้สนับสนุน แม้ว่า ก. จะมิได้รู้ถึงการให้ความช่วยเหลือของ ค. นั้นเลยก็ตาม

          การใช้ผู้สนับสนุน การสนับสนุนผู้ใช้ และการสนับสนุนผู้สนับสนุน
          การใช้ผู้สนับสนุน การสนับสนุนผู้ใช้และการสนับสนุนผู้สนับสนุน ถือว่าเป็นการสนับสนุนผู้ลงมือกระทำความผิดนั่นเอง*๑๐

____________________


          [๘] ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๖, หน้า ๒๐๖.
          [๙] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๒, หน้าที่ ๔๕๖-๔๖๒.
          [๑๐] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ ๒, หน้า ๔๖๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น